เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หน่วยงานที่จัดทำบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินการธนาคาร และเศรษฐกิจต่างประเทศ ได้ออกรายงานว่า เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง?
ในปัจจุบันเราต่างเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเดินทางมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแล้ว เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงภาวะด้านพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น นั่นจึงทำให้อุตสหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้รับความสนใจขึ้นแบบก้าวกระโดด
สำหรับรายได้ของไทยนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งรายได้หลักของประเทศ ในปี 2564 ไทยส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้น 959,194 คัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 561,147 ล้านบาท และตลาดสำคัญที่ส่งออกนั้นก็คือออสเตรเลีย ที่เป็นตลาดรถพวงมาลัยขวาเช่นเดียวกับไทย แน่นอนว่า รถยนต์ที่ส่งออกนั้นเป็นรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน
แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ไทยที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นดีทรอยซ์แห่งเอเชีย จะสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้หรือไม่ ที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่มีการเติบโตนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลงทุนของค่ายยานยนต์จากฝั่งของญี่ปุ่นทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันนั้นเห็นได้ชัดว่าฝั่งของญี่ปุ่นเองแทบทุกค่าย มีความเคลื่อนไหวค่อนข้างช้าในตลาดรถยนต์ EV
ในรายงานของ KKP Research ปี 2564 ที่ผ่านมา วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่อาจทำให้ไทยถดถอยในการแข่งขันก็คือ ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เท่านั้น
ตัดมาที่คู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย จากที่มีการเริ่มทะยอยลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของค่ายยานยนต์ต่างๆอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้อินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากอินโดนีเซียนั้นมีแร่สำคัญที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่อย่างแร่นิกเกิลจำนวนมาก
และนอกจากมีวัตถุดิบที่พร้อมแล้ว ทางอินโดนีเซียยังมีแผนจะพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้สูงขึ้น โดยวันที่ 27 เมษายน 2565 ทางอินโดนีเซียได้พาคณะผู้นำในด้านต่างๆ เข้าเจราจากับ Elon musk อีกครั้ง หลังมีรายงานว่าการหารือของอินโดนีเซียกับเทสล่าเพื่อสร้างโรงงานในหมู่เกาะล้มเหลวเมื่อเดือนที่ผ่านมา เนื่องจาก tesla นั้นสนใจเพียงที่จะสร้างแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน อย่างเช่น Power wall เท่านั้น
โดยการเข้าเจรจาครั้งที่สองนั้น Elon musk ได้เปิดโรงงานที่ Giga Texas เพื่อต้อนรับเจ้าหน้าที่จากอินโดนีเซียอย่างอบอุ่น ซึ่งการเยือนในครั้งนี้ของอินโดนีเซียนั้น ก็เพื่อที่จะโน้มน้าวให้ tesla เข้าร่วม อุตสาหกรรมนิกเกิลและรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตของอินโดนีเซีย
มีรายงานว่าการพูดคุยดังกล่าวนั้นกินเวลาราว 1 ชั่วโมง มีการพูดคุยในหัวข้อต่างๆ ที่จะนำแร่นิกเกิลนั้นมาแปรรูปสำหรับใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ tesla ที่กำลังต้องการวัตถุดิบในการผลิตเซลแบตเตอรี่ 4680 สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Cybertruck, Tesla Semi และ Roadster รุ่นต่อไป
โดยการเจรจาดังกล่าวนั้น รัฐมนตรีประสานงานกิจการการเดินเรือหนึ่งในคณะเจรจา กล่าวว่า การพูดคุยนั้นเป็นที่น่าพอใจ โดยทาง Elon musk ตกลงที่จะพบกับประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซียในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมาถึง ซึ่งอาจเป็นการพูดถึงในรายละเอียดเพิ่มเติมในการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งก็ถือว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าการเจรจาครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จ
และนอกจากการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก Elon musk แล้ว เหล่าคณะเจรจา ยังได้เดินเยี่ยมชมโรงงาน Tesla Giga ในออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำหน้าที่สุดของ Tesla และก่อนจากกัน ทางคณะผู้แทนได้ส่งคำเชิญ ให้ Musk เข้ากิจกรรม G-20 ที่จะจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายน
และนอกจาก tesla แล้ว ค่ายยานยนต์สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Hyundai ก็ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียเช่นกัน ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกประมาณ 40 กม. ในนิคมอุตสาหกรรมเดลตามัส ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 150,000 คัน/ปี
บริษัท LG Energy Solutions บริษัทแบตเตอรี่ชั้นนำ รวมถึงเจ้าใหญ่สุดของโลกอย่าง CATL ก็พึ่งประกาศลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียเช่นกัน
ด้วยนโยบายห้ามส่งออกแร่สำคัญโดยเด็ดขาดของอินโดนีเซีย จึงทำให้บริษัทต่างๆที่สนใจลงทุนนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทย์ที่สร้างงานและสร้างมูลค่าได้อย่างดีเยี่ยม
เห็นได้ชัดว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า กำลังหลังไหลเข้าสู่อินโดนีเซีย ซึ่งต่างจากประเทศไทย โดยปัจจุบันนั้น เพียงมาตรการลดภาษีนั้นอาจไม่เพียงพอ ก็ต้องมาคิดดูแล้วว่า เมื่อไม่มีแร่สำคัญเป็นตัวดึงดูด ไทยจะดันจุดเด่นอะไรเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งหนึ่งความเป็นไปได้นั่นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือการผลิตชิปเซ็ตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการผลักดันเอกชนในไทยให้พัฒนาความสามารถแข่งขันทัดเทียมต่างประเทศได้
สำหรับไทยนั้นถูกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์โดยค่ายญี่ปุ่นมาตลอด ซึ่งปัจจุบันถือว่าค่อนข้างช้าในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้การปรับตัวของไทยนั้นช้าตามไปด้วย และจากการที่เห็นการทำงานของอินโดนีเซียแล้ว ทำให้รู้สึกว่ารัฐของไทยอาจต้องดำเนินแผนด้านเชิงรุกมากขึ้นแทนการพึ่งพาตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ เพราะไม่อย่างนั้น ไทยอาจเดินทางซ้ำรอยเดิมออสเตรเลีย ที่มีการปรับตัวช้าด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ จนสุดท้าย ค่ายยานยนต์ ต่างย้ายฐานการผลิตของตนเองไปยังประเทศอื่นแทน หรือไม่ก็เลือกลงทุนในพื้นที่ๆ มีทรัพยากรณ์ที่พร้อมกว่า จนสุดท้ายประเทศไทยจะเสียส่วนแบ่งในตลาดยานยนต์ให้กับคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งทาง KKP Research วิเคราะห์ว่า ตลาดรถยนต์ที่เปลี่ยนเป็นรถ EV จะกระทบการผลิตชิ้นส่วน มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จะลดลงจาก 53% เหลือเพียง 34% ซึ่งจะทำให้แรงงานจำนวน 7-8 แสนคนนั้นอยู่ในภาวะเสี่ยงตกงานในอนาคต
ที่มา : prachachat /paultan / paultan